ลวดลายสีสันของแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามความหนาแน่นและความสูงของเมฆน้ำแข็งแอมโมเนียในชั้นบรรยากาศ เมฆที่มีความหนาแน่นต่ำจะลอยตัวขึ้นสูงปรากฏเป็นแถบเมฆสีอ่อน เรียกว่า “แถบโซน (Zones)” และเมฆที่มีความหนาแน่นสูงปรากฏเป็นแถบเมฆสีเข้ม เรียกว่า “แถบเข็มขัด (Belts)”
พายุหมุนที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดบนดาวพฤหัสบดีคือ “จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot)” หมุนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ปรากฏอยู่ระหว่างแถบเมฆสองแถบที่มีทิศทางการเคลื่อนที่สวนทางกัน แถบเมฆสีแดง (ตะวันออกของจุดแดงใหญ่) มีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตก ส่วนแถบเมฆสีขาว (ตะวันตกของจุดแดงใหญ่) มีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออก
อีกหนึ่งลักษณะเด่นที่น่าสนใจคือ แถบพายุบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัสบดี แถบกว้างสีส้มสว่างบ่งชี้ว่าเมฆชั้นต่ำกำลังสลายตัว ทำให้อนุภาคที่มีสีแดงเด่นชัดขึ้นมาในชั้นเมฆนี้
การเก็บข้อมูลดาวเคราะห์ในระบบสุริยะชั้นนอกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Outer Planets Atmospheres Legacy program” หรือ “OPAL” เพื่อถ่ายภาพและทำแผนที่ความละเอียดสูง ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงรายปีของแถบเมฆ กระแสลม และพายุบนชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ในระบบสุริยะได้
เรียบเรียง : ธนกฤต สันติคุณาภรต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
Credit: Hubble Space Telescope (OPAL), NASA, STScI and Amy Simon.
Processed by: C. Go
Cr.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น