วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ข่าว"เม็กซิโกเปิดตัว “ต้นไม้ไฮเทค” ดูดซับมลพิษในอากาศ ได้เท่าต้นไม้จริง 368 ต้น"

เหมือนปลูกป่า6.3ไร่ผลิตออกซิเจนได้ 2,890คนใช้หายใจได้ต่อวัน ดักจับ PM 2.5 ได้ 99.7 %.  อ่านเพิ่มเติม

ข่าว "มาเรียมเสียชีวิตเพราะขยะพลาสติก"

ขยะพลาสติก ตัวการพรากดุหยงน้อย 😢

เมื่อกลางดึกหลายๆ คนคงจะได้ยินข่าวอันน่าสลดใจของน้องมาเรียม นางฟ้าตัวน้อยแห่งอ่าวดุหยง ที่จากไปด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดและปอดอักเสบกันแล้ว

ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบว่าน้องมีอาการซึม กินอาหารได้น้อย และหายใจผิดปกติ เจ้าหน้าที่ได้ดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาอาการของน้อง พร้อมทั้งเหล่าแฟนคลับเองก็เฝ้าดู และส่งกำลังใจกันอย่างไม่ขาดสายตลอดหลายวันมานี้ แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตของน้องไว้ได้ และจากไปเมื่อคืนนี้เวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า

ในช่วงเช้ามืดเจ้าหน้าที่จึงได้นำร่างของมาเรียมไปผ่าชันสูตร และพบว่าตัวการสำคัญที่พรากน้องไปจากเรา คือขยะพลาสติก!

ทีมสัตวแพทย์ 10 คนจากกรม ทช. จุฬาฯ กองทัพเรือ และ มทร.ศรีวิชัย ตรัง ร่วมรายงานผลการชันสูตร ผ่าพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตของน้องมาเรียม สาเหตุมาจากการช็อค นอกจากนี้ยังพบเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมอยู่เต็มทางเดินอาหาร ส่งผลให้มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนองตามมา

โดยในช่วงแรกของการรักษา สามารถลดการติดเชื้อในระบบหายใจลงได้บางส่วน แต่ในทางเดินอาหารที่มีขยะพลาสติกนั้น ไม่สามารถรักษาได้ จึงลุกลามไปจนช็อค และทำให้เสียชีวิตในที่สุด

รอยโรคอีกส่วนหนึ่งที่พบคือ มีรอยช้ำเลือดในกล้ามเนื้อและผนังช่องท้องด้านใน ซึ่งอาจเกิดจากการกระแทกกับของแข็ง เช่น ถูกพะยูนตัวใหญ่พุ่งชน หรือชนหินขณะที่เกยตื้น (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)

การจากไปของมาเรียมน้อย เป็นเรื่องที่ทำให้เราเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้จะทำให้เราตระหนักถึงพิษของขยะพลาสติกกันมากขึ้น

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งนางฟ้ามาเรียม ด้วยการช่วยกันดูแลธรรมชาติ เอาใจใส่กับการทิ้งขยะ และลดใช้พลาสติก เพื่อตัดต้นตอของขยะในแหล่งน้ำธรรมชาติกันเถอะ!!

................................................

Good TV โทร 020263399
Line @goodtv คลิก

วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2562

#ข่าว (ภาพดาวพฤหัสบดี photo by nasa )

#ภาพดาวพฤหัสบดีคมชัดสุดตระการตา


นาซาเผยภาพถ่ายดาวพฤหัสบดีล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล บันทึกไว้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 แสดงให้เห็นความสวยงามของจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) อันเป็นเอกลักษณ์ของดาวดวงนี้ และลวดลายความปั่นป่วนของชั้นบรรยากาศที่มีมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาชั้นบรรยากาศดาวพฤหัสบดีได้เป็นอย่างดี

ลวดลายสีสันของแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามความหนาแน่นและความสูงของเมฆน้ำแข็งแอมโมเนียในชั้นบรรยากาศ  เมฆที่มีความหนาแน่นต่ำจะลอยตัวขึ้นสูงปรากฏเป็นแถบเมฆสีอ่อน เรียกว่า “แถบโซน (Zones)” และเมฆที่มีความหนาแน่นสูงปรากฏเป็นแถบเมฆสีเข้ม เรียกว่า “แถบเข็มขัด (Belts)”

พายุหมุนที่ปรากฏเด่นชัดที่สุดบนดาวพฤหัสบดีคือ “จุดแดงใหญ่ (Great Red Spot)” หมุนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา ปรากฏอยู่ระหว่างแถบเมฆสองแถบที่มีทิศทางการเคลื่อนที่สวนทางกัน แถบเมฆสีแดง (ตะวันออกของจุดแดงใหญ่) มีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตก ส่วนแถบเมฆสีขาว (ตะวันตกของจุดแดงใหญ่) มีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออก

อีกหนึ่งลักษณะเด่นที่น่าสนใจคือ แถบพายุบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัสบดี แถบกว้างสีส้มสว่างบ่งชี้ว่าเมฆชั้นต่ำกำลังสลายตัว ทำให้อนุภาคที่มีสีแดงเด่นชัดขึ้นมาในชั้นเมฆนี้

การเก็บข้อมูลดาวเคราะห์ในระบบสุริยะชั้นนอกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Outer Planets Atmospheres Legacy program” หรือ “OPAL” เพื่อถ่ายภาพและทำแผนที่ความละเอียดสูง ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงรายปีของแถบเมฆ กระแสลม และพายุบนชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ในระบบสุริยะได้

เรียบเรียง : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

Credit: Hubble Space Telescope (OPAL), NASA, STScI and Amy Simon.
Processed by: C. Go
Cr.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page